“ไพศาล พืชมงคล” เน้นย้ำ 3 แนวทางการค้าไทย-จีน เจริญรุ่งเรืองต้องมีผู้นำที่มีความสามารถ เน้นช่องทางการค้าและทำผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของจีน

หลักสูตร “ผู้บริหารธุรกิจไทย-จีน” หรือ บทจ. รุ่น1 ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ภายใต้ความร่วมมือจากหอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้เชิญนายไพศาล  พืชมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นักกฎหมายชาวไทย อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นักเขียนเจ้าของนามปากกา เรืองวิทยาคม มาเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยภายใต้เงาจีน” ณ รร.ดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีรายการจับจ้องมองจีน และ China Media Group ของจีน เป็นผู้ร่วมสนับสนุน

นายไพศาลมองว่า นับตั้งแต่มีการค้ากับจีนมาแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และ รัตนโกสินทร์  ไทยได้สิทธิ์การค้าขายกับจีนมากกว่าชาติอื่น มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ความสัมพันธ์กับจีนถือได้ว่า  ประเทศในแถบนี้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้ากับจีนเลยก็ว่าได้  เงินบาทไทยแข็งค่าที่สุด ด้วยพระปรีชาของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมองการณ์ไกล ทรงเปิดเส้นทางการค้าทางเรือเข้าไปเมืองท่าของจีนได้  แม้สินค้าไทยในอดีตจะน้อยกว่าปัจจุบัน

แต่ปัจจุบันช่องทางการค้าของไทยกับจีนแคบลงมาก การขนส่งจากไทยไปจีน ผ่านช่องทางต่างๆไม่สะดวกเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเป็นสมาชิกภาคีอินโด-แปซิฟิก ข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกาขัดขวางการค้ากับจีน หรือการยกเลิกโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง  ทำให้ไทยขนส่งสินค้าไปท่าเรือจีนไม่สะดวก เรือไม่สามารถจอดเทียบท่าได้ ปิดหนทางการขนส่งแม่น้ำโขง ต้องหันมาใช้การขนส่งทางบกซึ่งต้องผ่านลาวไปจีนอีกทีหนึ่ง ส่วนเส้นทางรถไฟไทย-จีน ก็ยังไม่ไปถึงไหน จึงมองว่าเราปิดเส้นทางการค้ากับจีนเอง

นายไพศาลกล่าวต่อว่า การที่ไทยขาดดุลกับจีนน่าจะมาจากการปิดช่องทางการค้ากับจีน และเราไม่ได้ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่จีนต้องการ วิธีแก้ไขคือต้องเพิ่มแรงขับเคลื่อนด้านการค้า การท่องเที่ยวของไทยให้มากขึ้น รวมถึงเร่งรถไฟไทย-จีนให้สำเร็จ จึงจะทำให้เกิดการค้าที่ไม่เสียดุลการค้าต่อกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *