กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการรายย่อย จ.เชียงราย ดีใจที่เห็นผู้ประกอบการในจังหวัดช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าส่งเสริมธุรกิจรายย่อยเชิงรุก ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการต่อเนื่อง ล่าสุดเดินทางไปจ.เชียงราย จับเข่าคุยรับฟังปัญหา ความต้องการการช่วยเหลือ 3 กลุ่มธุรกิจ : ชา ESG และผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมนำข้อเสนอแนะมาตั้งเป็นเป้าหมายหลักจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจแบบครบวงจร เตรียมความพร้อมรับมือทุกวิกฤต ขยับเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เดินไปข้างหน้า ดีใจเห็นผู้ประกอบการในจังหวัดช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี เกี่ยวก้อยเป็นพันธมิตรสร้างสัมพันธภาพทางธุรกิจทุกด้าน


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “แนวทางการบริหารงานภาครัฐของกระทรวงพาณิชย์ ต้องการให้หน่วยงานภายใต้สังกัดลงพื้นที่พบปะ พูดคุย รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจความต้องการของภาคธุรกิจในทุกมิติ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและตอบโจทย์ความต้องการอย่างตรงจุด รวมถึง สำรวจเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งใช่เพียงแต่ภาคธุรกิจจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาบนทิศทางที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ภาครัฐยังจะได้เรียนรู้เทคนิคการบริหารงานของแต่ละองค์กรที่มีรูปแบบและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย มาประยุกต์ใช้ในงานบริหารรัฐกิจเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขั้นสูง เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่แม่นยำจะช่วยลดการสูญเสียโอกาสด้านต่างๆ และได้รับผลลัพธ์ที่คุ้มค่าของทั้ง 2 ฝ่าย

ล่าสุด กรมฯ ได้นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อสำรวจเศรษฐกิจเมืองรอง พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของผู้ประกอบการชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อม/รายย่อยที่เป็นหน่วยเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ โดยได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจชา ธุรกิจ ESG และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน


อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า ธุรกิจแรกที่พบปะพูดคุย คือ ธุรกิจจำหน่ายชา บริษัท ชาฉุยฟง จำกัด เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปชาชั้นดีแบบครบวงจร ตั้งอยู่ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งการผลิตใบชาถือเป็นธุรกิจที่สำคัญของ จ.เชียงราย ชาฉุยฟง ประกอบกิจการในรูปแบบการเกษตรเชิงท่องเที่ยวและการเกษตรแปรรูป ในช่วงเริ่มแรก ไร่ชาฉุยฟง เป็นแหล่งปลูกชาและมีโรงงานผลิตใบชาเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ต่อมาได้นำแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเข้ามาผสมผสานในการประกอบธุรกิจ จึงได้ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นในส่วนของร้านขายชาและคาเฟ่ รวมถึงการเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศของไร่ชาอย่างใกล้ชิดได้ตลอดทั้งปี กระบวนการผลิตใบชาของชาฉุยฟง จะมีการคัดแยกคุณภาพของใบชาตามเกรด โดยเกรดเอจะเป็นยอดชาที่มีการใช้มือคนเก็บชาทั้งหมด และคัดเฉพาะยอดอ่อนเท่านั้น ส่วนเกรดบีจะมีราคาที่ถูกกว่า เพราะจะเป็นยอดชาที่ใช้เครื่องจักรในการเก็บชา

นอกจากนี้ ไร่ชาฉุยฟง ยังเป็นไร่ชาปลอดสารพิษ ที่ไม่มีการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต พร้อมกันนั้นยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกๆด้าน ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์ จาก กรมวิชาการเกษตร ในส่วนของภาคการเกษตรนั้น มีการตรวจวัดค่าการเพาะปลูกที่มีการจัดการอย่างเป็นมาตรฐาน เช่น ระบบการให้น้ำอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน การตรวจสอบสภาพดิน การให้ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น ส่วนในภาคการผลิต ก็มีการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน เข้ามาใช้ในการแปรรูป อบแห้ง คัดแยกคุณภาพของใบชา การบรรจุหีบห่อ เป็นต้น สินค้าของชาฉุยฟง มีทั้งในรูปแบบของชาชงแบบดั้งเดิม ชาชงสำเร็จรูป ชาชงพร้อมดื่ม (Ready to drink) หรือ ผลิตเป็นน้ำชาผสมสำเร็จรูป

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ธุรกิจชายังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยส่งเสริมให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้ช่วยขยายช่องทางการตลาดให้กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการชาส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ซึ่งประเด็นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจชาของประเทศไทย นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาด้านสภาพอากาศที่มีความแปรปรวน ภัยแล้ง หมอกควัน PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกร และการควบคุมคุณภาพของชา สำหรับเศรษฐกิจปัจจุบัน กลุ่มผู้ประกอบการชาได้รับผลกระทบบ้าง แต่ธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะมีฐานลูกค้าประจำที่เชื่อมั่นในธุรกิจและคุณภาพของผลิตภัณฑ์มาอย่างยาวนาน ดังนั้น การให้ความสำคัญกับคุณภาพชาจึงต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยไม่เพียงแต่ต้องรักษามาตรฐานให้ดีอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังต้องมีการพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคตอีกด้วย

ธุรกิจที่ 2 คือ ธุรกิจ ESG ห้างหุ้นส่วนจำกัด นายน์ช็อป เก้าเก้า ตั้งอยู่ที่ อ.เวียงชัย เป็นผู้ประกอบชุมชนแนว ESG ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะโดยเน้นนโยบาย Zero Waste รายแรกๆ ของ จ.เชียงราย และประเทศไทย โดยนำ BCG โมเดล มาประยุกต์ใช้ในกิจการเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการและเทคโนโลยีการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเข้ากับแนวโน้มการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ในร้านเย็บด้วยมือและเป็นการเพ้นท์มือเกือบทั้งหมด ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เป็นวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีงานศิลปะบนผืนผ้าใบที่ได้รับการออกแบบและสรรค์สร้างโดยศิลปินเชียงราย คุณ จุฑามณี อาจกล้า ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่น สวยงาม โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สถานที่สำคัญ และวัฒนธรรมเรื่องเล่า ของ จ.เชียงราย เช่น ภาพแมงสี่หูห้าตา พระธาตุดอยเขาควายแก้ว เป็นต้น ลูกจ้างในร้านส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวจึงมีความเข้าใจและช่วยกันบริหารธุรกิจเป็นอย่างดี รวมถึง ได้มีการช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีงานทำ มีรายได้ โดยให้คนในชุมชนนำงานกลับไปทำที่บ้าน ลดปัญหาการเข้า-ออกของลูกจ้าง และการขาดแคลนแรงงาน ส่วนอุปสรรคการประกอบธุรกิจปัจจุบัน คือ การตลาดออนไลน์เนื่องจากมีการแข่งขันสูง และสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ ช่วยขยายช่องทางการตลาดและกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ธุรกิจที่ 3 คือ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน บริษัท เวลคัม ทู เชียงราย จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.แม่สาย เป็นร้านจำหน่ายสินค้าของฝากของที่ระลึกที่ได้รวบรวมผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการชุมชนภายในจังหวัดเชียงรายมาจัดแสดงและจำหน่ายภายในร้าน เวลคัม ทู เชียงราย อ.แม่สาย และสาขาที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย ชั้น G สาขาศูนย์ผ้าปางห้า อ.แม่สาย จ.เชียงราย และสาขาศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ชั้น M สุขุมวิท กรุงเทพ โดยสินค้าที่จำหน่ายเป็นงานฝีมือแบบเชียงรายแท้ๆ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สวยงาม ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์เชียงราย เช่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าทอเชียงราย ผ้าไหม งานหัตถกรรมต่างๆ ในรูปแบบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋าของใช้ ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

จุดเด่นของร้าน เวลคัม ทู เชียงราย คือ การให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการชุมชนใน จ.เชียงราย เป็นหลัก สินค้าในร้านส่วนใหญ่จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากผู้ประกอบการท้องถิ่นเชียงราย เป็นการช่วยผู้ประกอบการในการขยายตลาด กระจายสินค้า ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้คนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ร้านฯ ยังมีการตั้งเป้าดันผลิตภัณฑ์ผ้าชาติพันธุ์และผ้าทอเชียงรายเป็นซอฟท์พาวเวอร์ระดับจังหวัด และพร้อมที่จะพัฒนาให้เป็นซอฟท์พาวเวอร์ระดับประเทศต่อไป ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้อสินค้าภายในร้านจึงเปรียบเสมือนการช่วยต่อลมหายใจให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน และสนับสนุนสร้างความมีคุณค่าให้เกิดแก่ผู้ประกอบการร้านค้าชุมชนของจังหวัดเชียงรายให้มีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของทางร้าน คือ ด้านรูปแบบ/การผลิตสินค้าจากชุมชน และผู้ประกอบการของจังหวัดเชียงรายที่อาจจะยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการของตลาด การพัฒนารูปแบบให้มีความทันสมัย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีการปรับจูนกันเองภายในชุมชน และใช้ผู้บริโภคและความต้องการของตลาดเป็นเป้าหมายที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ การสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์และการช่วยพัฒนาด้านการออกแบบสินค้าและด้านการผลิต รวมถึงช่วยขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยหลังจากที่ได้รับฟัง พูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา-อุปสรรคของผู้ประกอบการ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐของทั้ง 3 ธุรกิจแล้ว กรมฯ จะเร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค ความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจอย่างครบวงจร เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถรับมือได้ทุกวิกฤต ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันผลักดันผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจากการลงพื้นที่ได้เห็นว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นมีการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่คอยให้ความช่วยเหลือและเกื้อกูลธุรกิจระหว่างกันเป็นอย่างดี ทำให้ภาคธุรกิจในจ.เชียงรายมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ‘ธุรกิจท้องถิ่น’ เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญในพื้นที่ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งหากธุรกิจได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังแล้ว มั่นใจว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต้องมีความยั่งยืนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เชียงรายเป็นจังหวัดเมืองรองเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการส่งเสริมและยกระดับให้เป็นเมืองหลักที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการค้า/ค้าชายแดน เนื่องจากมีองค์ประกอบและต้นทุนทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 พบว่า จ.เชียงราย มีจำนวนนิติบุคคลและมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่เป็นอันดับที่ 2 จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ อันดับที่ 1) ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจอยู่จำนวนทั้งสิ้น 8,973 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 49,833.26 ล้านบาท ธุรกิจที่ประกอบกิจการใน จ.เชียงราย มีรายได้รวมระหว่างปี 2562 – 2566 อยู่ที่ 815,978.60 ล้านบาท และมีธุรกิจเลิกประกอบกิจการตั้งแต่ ปี 2563 – ปี 2567 (ม.ค. – ก.ค.) จำนวน 1,176 ราย ทุน 1,922.87 ล้านบาท โดยปี 2567 จ.เชียงราย มีจำนวนกิจการเลิกประกอบธุรกิจเป็นอันดับ 2 จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ อันดับที่ 1) เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เชียงรายเป็นจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพสูง และพร้อมยกระดับให้เป็นเมืองหลักที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *