วธ.โดยกรมศิลปากรเข้าสำรวจวัดหนองบัว-วัดภูมินทร์ น่านหลังน้ำท่ามขัง ประเมินผลและหาแนวทางป้องกันและอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถาน พร้อมจับตาน้ำท่วมโบราณสถาน-ศาสนสถาน -ชุมชนคุณธรรมฯภาคเหนือตอนล่าง-ภาคกลาง โดยเฉพาะวัดไชยวัฒนาราม ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มรดกโลก

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด ซึ่งทางกรมศิลปากรได้รายงานเบื้องต้นว่า มีน้ำท่วมขังโบราณสถานน่าน พะเยา เชียงราย นั้น ขณะนี้ได้รับรายงานจากกรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมขังโบราณสถานในพื้นที่ 3 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดน่าน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 2.วัดภูมินทร์ อำเภอ เมือง จังหวัดน่าน และ 3.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ขณะที่ จังหวัดพะเยา คือ เมืองโบราณเวียงลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย คือวัดเสาหิน ขณะนี้สถานการณ์น้ำคลี่คลายแล้ว โดยเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา นายชินณวุฒิ วิลยาลัย ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ พร้อมด้วยนางสาวชลลดา สังวร หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน และเจ้าหน้าที่ ได้เข้าสำรวจสภาพโบราณวัตถุ โบราณสถานหลังน้ำท่วม ณ วัดหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา และวัดภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เพื่อประเมินผลกระทบและหาแนวทางในการป้องกันและอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถานต่อไป

พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำและแนวทางในการฟื้นฟูและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดจากความชื้นต่อโบราณวัตถุและโบราณสถานในเบื้องต้นให้กับทางวัด อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง อาทิ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะแหล่งโบราณสถานสำคัญ อาทิ วัดไชยวัฒนาราม ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มรดกโลกของไทย เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับวัดไชยวัฒนารามนั้น เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่ติดตามแผนบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่โบราณสถานริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นห่วงพื้นที่โบราณสถานแหล่งมรดกโลกที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งวัดไชยวัฒนารามยังเคยถูกน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์ และรับฟังแผนการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะที่วัดไชยวัฒนาราม พบว่า มีความพร้อมทุกด้าน โดยกรมศิลปากรได้ติดตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมที่สามารถยกตั้งขึ้นและพับเก็บได้เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาว 160 เมตร สูงจากผิวบนสุดของขอบตลิ่งประมาณ 1.80 เมตร และต่อความสูงเพิ่มได้ถึง 2.40 เมตร นอกจากนี้ ยังมีแนวกำแพงป้องกันน้ำถาวรก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3469 เป็นแนวป้องกัน รวมถึงการจัดแผนรองรับยังพื้นที่โบราณสถานสำคัญในพื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่มีความเสี่ยงตามแผนปฏิบัติการลดผลกระทบจากภัยพิบัติการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ปี 2566-2575 โดยร่วมกับจ.พระนครศรีอยุธยา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทหาร หน่วยงานท้องถิ่น จัดแนวทางป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ยืนยันว่า จากความพร้อมดังกล่าว จะทำให้ไม่เกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกับปี 2554 ทั้งได้สั่งการให้กรมศิลปากร ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนสถานที่ราชการในสังกัด อาทิ กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน จังหวัดแพร่ ขณะนี้น้ำที่ท่วมขังเริ่มลดลง และแห้งบ้างแล้ว เบื้องต้นไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมร่วมมือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่องานวัฒนธรรม ศาสนสถาน ชุมชนคุณธรรมฯ แหล่งเรียนรู้ เครือข่ายทางวัฒนธรรม รวมถึงบุคลากร หรือสถานที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ขอให้จัดส่งข้อมูลรายงานผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวมายังส่วนกลางเป็นระยะ และรายงานจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงจัดทำแผนช่วยเหลือเบื้องต้น และบูรณะซ่อมแซมในอนาคตต่อไปพร้อมตั้งศูนย์ประสานงาน ผลกระทบจากน้ำท่วมผ่านสายด่วนวัฒนธรรม 1765 ด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *