ก.อุตฯ เสริมแกร่งเอสเอ็มอี พัฒนา ต่อยอดทักษะการตลาดวิถีใหม่ ปรุง 7 วิธี ปั้น Soft Power ระดับจังหว

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังพิธีเปิดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ปั้น Marketeer สู่ Soft Power” ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมระดับจังหวัด ด้วยการส่งเสริม Soft Power และการตลาดวิถีใหม่ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ว่า จากสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก และสภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเปราะบางจากปัญหาภาระหนี้ครัวเรือน สถานการณ์ด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ การส่งออกขยายตัวได้น้อยจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำลังซื้อในประเทศลดลง ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ

แม้มีการกลับมาของภาคการท่องเที่ยวก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมระดับจังหวัด ด้วยการส่งเสริม Soft Power และการตลาดวิถีใหม่” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ และปรับตัวกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งส่งเสริม และสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ พร้อมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการฝึกอบรมสัมมนาให้ความรู้ การให้คำปรึกษาแนะนำการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และอัตลักษณ์พื้นถิ่น การส่งเสริมการตลาดในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างตรงเป้าหมาย ด้วย 7 วิธี ประกอบด้วย 1) การจัดทำแผน : จัดทำแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่นในพื้นที่ 2) การพัฒนาคน พัฒนาและยกระดับความรู้ด้านเทคโนโลยี เพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ 3) ผลิตภัณฑ์ ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มีความโดดเด่นตามอัตลักษณ์ของพื้นที่ 4) การผลิต เพิ่มศักยภาพทางการผลิตที่สอดรับกับแนวโน้มความต้องการของตลาดวิถีใหม่ ผ่านการพัฒนาบริหารจัดการกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร 5) สร้างแบรนด์ สร้างความโดดเด่นด้วยภาพลักษณ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ 6) การตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงช่องทางการตลาดใหม่ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จัดทำแผนการตลาดทางธุรกิจ เทคนิคเพิ่มยอดขายด้วยคอนเทนต์บนตลาดออนไลน์ 7) เงินหมุนเวียน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ


ดังนั้น อก. จึงได้ปั้นผู้ประกอบการผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สามารถต่อยอดทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการตลาด เพิ่มจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและบริการ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลกำไร โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ โดยเข้ารับคำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ใน 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การประเมินวิเคราะห์ธุรกิจ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้ตรงกับความต้องการในยุคปัจจุบัน 2) การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ่านการให้คำปรึกษาเชิงลึก (Coaching & Consult) ด้านการพัฒนา Soft Power ในธุรกิจอุตสาหกรรมระดับจังหวัดผ่านการตลาดวิถีใหม่ ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิต มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ และบริการ 3) การส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อค้นหาจุดเด่นและเผยแพร่ศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจ

“จากผลสำเร็จของโครงการฯ ปี 67 อก. จะดำเนินการขยายผลต่อในปี 68 ตามหลัก 7 วิธี โดยเน้นพัฒนาสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค พร้อมถอดบทเรียนความสำเร็จให้เป็นต้นแบบแก่ธุรกิจรายอื่น ๆ เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และต่อยอดผลสำเร็จสู่การจัดงาน “อุตสาหกรรมแฟร์” เพื่อทดลองตลาด พร้อมสร้างภาคีเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป” รองปลัดฯ ณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *