การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมเนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายน ประจำปี 2567

การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดพิธีเคารพธงชาติ และร้องเพลงชาติไทย ตามสถานี เขต แขวง สถานที่สำคัญต่างๆ ของการรถไฟฯ ทั่วทุกภูมิภาค เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายน (Thai National Flag Day) ประจำปี 2567 น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติไทย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจและแสดงถึงความสมัครสามัคคีของคนในชาติ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย การรถไฟฯ จึงจัดพิธีเคารพธงชาติ และร้องเพลงชาติไทย ตามสถานี เขต แขวง สถานที่สำคัญต่างๆ ของการรถไฟฯ ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติไทย ซึ่งธงชาติถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ศักดิ์ศรีความเป็นไทย แสดงความเป็นเอกราช การมีอธิปไตยของชาติ มีความสำคัญทางจิตใจที่แสดงถึงความรัก และความรู้สึกที่มีร่วมกันของคนในชาติ ธงชาติไทยแต่เดิมมีหลายรูปแบบ จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติธงชาติไทยขึ้นใหม่ในปีพุทธศักราช 2460 อันมีนามว่า “ธงไตรรงค์” และทรงกำหนดความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการ ในพระราชนิพนธ์ เรื่องเครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ไว้ว่า

– สีแดง หมายถึงเลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ
– สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
– สีน้ำเงิน หมายถึงสีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์

โดยต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ โดยให้ยึดเอาธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยตั้งแต่นั้นมา เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับต่างประเทศ และจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงธงชาติบ่อย ๆ

โดยการนี้ จึงมีการกำหนดความหมายของธงไตรรงค์ให้ชัดเจนขึ้น แต่ยังคงรักษาอุดมการณ์เดิมของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ไว้ คือ สีแดงหมายถึงชาติ (ประชาชน) สีขาวหมายถึงศาสนา และสีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ธงชาติไทย จึงถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติ ให้อนุชนรำลึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษไทย เพื่อรักษาไว้ซึ่งผืนแผ่นดิน และร้อยดวงใจคนทั้งชาติ ให้มีความรักสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งยังสร้างเสริมความภูมิใจในความเป็นชาติ ก่อเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชาติไทยสืบไป.

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *