นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางนโยบายเร่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศเกิดฟื้นตัวและสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการดูแลคุณภาพชีวิต ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ คือการสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตามกำหนดในปี ค.ศ. 2050 พร้อมกับการสร้างการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจากกฎกติกาสากลและคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้น และครอบคลุมในหลายสาขาอุตสาหกรรม จึงเป็นความท้ายทายของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะนำมาสู่ความต้องการนำเข้าสินค้าคาร์บอนต่ำ และเป็นกติกาทางการค้าที่อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถด้านการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก
ด้วยความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การผลิตอย่างยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำดังกล่าว จึงได้มอบนโยบาย “การขับเคลื่อนปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” และเน้นย้ำให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนครอบคลุมการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ ตลอดจนต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ค่าใช้จ่ายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภูมิภาคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยกรอบแนวคิด BCG ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้น เพื่อให้สถานประกอบการหรือวิสาหกิจนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด นำร่อง 12 จังหวัด อาทิ จังหวัดแพร่ เชียงราย พะเยา ชัยภูมิ สุรินทร์ เพชรบุรี หนองบัวลำภู ลำปาง นนทบุรี ยะลา ภูเก็ต และร้อยเอ็ด เพื่อยกระดับสถานประกอบการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 32 ราย และคัดเลือกสถานประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต มีความเป็นไปได้ในการต่อยอดเชิงพาณิชย์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามกรอบแนวคิด BCG ซึ่งนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 12 ราย ซึ่งการดำเนินโครงการสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 764 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 22,709 ตันคาร์บอนต่อปี