เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา หลักสูตร”ผู้บริหารธุรกิจไทย-จีน” หรือ บทจ. รุ่น1 ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ภายใต้ความร่วมมือจากหอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เชิญนายหวง ปิน ผู้อำนวยการหน่วยงานภาษาจีนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งเป็นผู้แปลและผู้เรียบเรียงจัดทำ ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจไทย-จีน ให้กับนักลงทุนจีนในไทย มาเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ภาพรวมของระเบียงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะ EEC และ Land Bridge” ณ รร.ดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีรายการ จับจ้องมองจีน และ China Media Group ของจีน เป็นผู้ร่วมสนับสนุน
นายหวง ปิน บรรยายชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการของทั้ง EEC (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) และ Land Bridge ของไทย ที่ยังเติบโตค่อนข้างช้า ซึ่งอันที่จริงทั้งสองโครงการนี้มีประโยชน์มาก สาเหตุของการพัฒนาที่ยังช้าอยู่มีทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ และปัจจัยภายนอกประเทศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทที่มีผลมาจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่นและวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2008 , ปัญหาโรค COVID-19 ปี 2020 ที่กระทบการขนส่งและการท่องเที่ยวของไทยที่เป็นรายได้หลักของประเทศ
ซึ่งเมื่อสถานการณ์โรค COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ไทยได้เปิดประเทศอีกครั้งแต่ยอดนักท่องเที่ยวก็ยังไม่ถึงจุดเดิม ก่อนที่จะเกิดโรค COVID-19 รัฐบาลไทยในยุคของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงดำรินโยบาย “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0” (Smart City-Smart Industry-Smart People-Smart Thailand) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยได้ประกาศจัดตั้ง ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC : Eastern Economic Corridor) ครอบคลุม 3 จังหวัดในภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เนื่องจากมองว่าภาคตะวันออกมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถต่อยอดได้ เมื่อ EEC เกิดขึ้น รัฐจึงมีกฏหมายพิเศษเพื่อให้สิทธิประโยชน์ให้ผู้ลงทุนใน EEC รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง พัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูง พัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในด้านต่างๆ โดยเน้นภาคอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานอยู่แล้ว แล้วจึงยกระดับโดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ไทยยังไม่มีและต้องใช้เวลา
ส่วน Land Bridge หรือชื่อเต็มคือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เชื่อมโยง 2 ท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โครงการนี้ นายหวง ปิน วิเคราะห์ว่า หากเกิดขึ้นจริง จะช่วยทำให้ไทยบูรณาการยุทธศาสตร์การเติบโตเข้ากับภาพรวมเศรษฐกิจการค้าโลกได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของไทย สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ คือ เพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า เพิ่มผู้โดยสาร เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เราจะสามารถพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) กับประตูการค้าภาคใต้ เพื่อส่งต่อสินค้าไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ยุโรป เชื่อมกับ จีนตอนใต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ