“สุริยะ” ยืนยันประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายครบทุกสี-ทุกสายภายใน ก.ย. 68 แน่นอน จ่อชง ครม. ต่ออายุมาตรการภายใน 30 พ.ย.นี้ เร่งดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เสนอเปิดสมัยประชุมสภา ธ.ค. 67 ลุยถกร่วม ก.คลัง ศึกษาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า 2 แสนล้าน เตรียมระดมทุนจากนักลงทุน พร้อมเดินเครื่องจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ยึดโมเดลต่างประเทศ ชี้เบื้องต้นจัดเก็บได้ปีละ 1.2 หมื่นล้าน คาดชัดเจนกลางปีหน้า
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยได้ผลตอบรับจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดีนั้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะใช้ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยประกาศไว้อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่ออายุมาตรการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะครบในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 อีกทั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมช่วงเดือนธันวาคม 2567 โดยเมื่อ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อจัดหาเงินทุนมาสนับสนุนนโยบายฯ อาทิ ส่วนแบ่งรายได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, กองทุนอนุรักษ์พลังงาน และงบประมาณ
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินการนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า โดยการระดมทุนจากนักลงทุน ระยะเวลา 30 ปี วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อคืนสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เพื่อให้ภาครัฐ สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง และเป็นธรรม เข้าถึงได้ง่ายด้วย
นอกจากนี้ จะดำเนินการศึกษาเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) เพื่อนำเงินเข้ากองทุนฯ และอาจจะพิจารณานำไปเป็นดอกเบี้ย (ผลตอบแทน) ให้กับผู้ระดมทุน โดยจะดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว เป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในต่างประเทศ และประสบผลสำเร็จ อย่างเช่น ประเทศอังกฤษ
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวนั้น จะช่วยให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยรถไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยแก้ปัญหามลภาวะ และฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย อย่างไรก็ตาม เตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อพิจารณาพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียม, รวมทั้งพิจารณางบประมาณที่จะซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทาง อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในกลางปี 2568
สำหรับการคาดการณ์แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเบื้องต้นนั้น มีแนวทางจะเริ่มจัดเก็บในระยะ 5 ปีแรก ในอัตรา 40-50 บาท และในช่วง 5 ปีถัดไป จะทยอยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในขณะนั้น ซึ่งคาดว่า จะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ที่กำหนดได้วันละประมาณ 700,000 คัน หรือประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาสนับสนุนการซื้อคืนสัมปทานด้วยเช่นกัน