จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าว คนกรุง..โล่งอก ศปช. ยืนยัน กทม.และภาคกลางเบาใจได้ มั่นใจน้ำไม่ท่วมแน่นอน หลังเขื่อนเจ้าพระยาลดปล่อยน้ำใกล้สู่ภาวะปกติ ส่วนภาคใต้ฝนยังหนักเตือนเฝ้าระวังดินถล่ม นั้น
กรมชลประทาน ขอชี้แจงกรณีนี้ว่า ปัจจุบันแนวโน้มฝนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยวันนี้ (19 ตุลาคม 2567) เมื่อเวลา 06.00 น. มีน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,613 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มลดลง กรมชลประทานได้ทยอยปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเหลือ 1,350 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนและน้ำท่า ซึ่งการระบายน้ำนี้ ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ เริ่มมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ระดับน้ำค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีน้ำไหลผ่านเฉลี่ยอยู่ที่ 1,186 ลบ.ม/วินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว โดยภาพรวมยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่อาจจะส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรในเขตจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ มีระดับน้ำที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานเร่งระบายน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด พร้อมใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นทางลัดในการระบายน้ำเหนือ ช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนหนึ่งลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้รวดเร็วขึ้น โดยการร่นระยะทางการไหลของน้ำ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่บริเวณนอกคันกั้นน้ำได้
ด้านสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ พบว่ามีฝนตกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงให้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง และเน้นย้ำให้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด ตามนโนบายของรัฐบาล