นายกฯ สั่ง “คลัง-ธปท.-แบงก์รัฐ” แก้หนี้ครัวเรือน 1.3 ล้านล. พักจ่ายดบ. 3 ปี-ช่วยไร่ละ 1,000 ส่วนแจกเงินดิจิทัลเฟส 3 รอเคาะ เม.ย.ปีหน้า

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งแรก โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง น.ส.จิราพร สินธุไพร และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

น.ส.แพทองธารกล่าวก่อนการประชุมว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่สามปี 2567 ที่สภาพัฒน์ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ย. จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องไตรมาสที่สาม จีดีพีขยายตัวที่ 3% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่หนึ่งและสอง ที่ 1.6 % และ 2.2% เมื่อรวมทั้งหมดขยายตัวที่ 2.3% จากการส่งออก การบริโภคของภาครัฐ การท่องเที่ยว และภาคก่อสร้าง ถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในศักยภาพที่จะเติบโตมากกว่านี้ จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้ขึ้นมา เพื่อทำให้นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เกิดผลประโยชน์เป็นรูปธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ ไปพร้อมกับการดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการกำหนดแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถของไทยในระยะยาว

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ระยะสั้นจะมุ่งเน้นในการเพิ่มรายได้ และบรรเทาค่าครองชีพสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรัฐบาลเริ่มดำเนินการผ่านการอุดหนุนค่าครองชีพ สำหรับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย ดังนั้นในระยะต่อๆ ไป ควรพิจารณาความเหมาะสม ที่จะช่วยเหลือกลุ่มต่อไป เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญคือภาระหนี้สินของประชาชน แม้ในช่วงปี 2567 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะปรับตัวลดลง เหลือ 89.6% จาก 90.7% ของไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงในแต่เดือนประชาชนยังมีภาระในการชำระหนี้สูง และมีความเสี่ยงในการที่จะผิดนัดในการชำระหนี้ จึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เป็นรูปธรรม เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณาออกแบบมาตรการในการแก้ปัญหาหนี้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของประชาชน

ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐบาลจะให้ความสำคัญที่จะเพิ่มมาตรการการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความสามารถของการแข่งขันของประเทศในอนาคต เชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้ จะช่วยออกมาตรการช่วยเหลือต่อไป

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แถลงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งแรก ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเป็นกลุ่มที่ลงทะเบียนไว้กับแอพพลิเคชั่นทางรัฐและได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด เรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มนี้มีประมาณ 3-4 ล้านคน คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเปราะบางเช่นกัน ที่จะต้องรีบดำเนินการ โดยคาดว่าสามารถจ่ายได้ก่อนเทศกาลตรุษจีน ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็จะมีการเปิดลงทะเบียนต่อไป

นายพิชัยกล่าวว่า ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่มีการลงทะเบียนไว้ จะมีการพิจารณาในไตรมาสที่ 2 ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568 ว่าจะมีการจ่ายเงินดิจิทัลในเฟส 3 ต่อเนื่องหรือไม่

รมว.คลังกล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารรัฐ จะพิจารณากรณีหนี้ครัวเรือน จะแบ่งเป็นกลุ่มผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หนี้จากการบริโภค มูลค่าประมาณ 1- 1.3 ล้านล้านบาท จะพักชำระดอกเบี้ย 3 ปี จะทำให้มีเงินไปใช้บริโภคหรือลงทุนมากขึ้น และอาจทบทวนเรื่องการลดการผ่อนเงินต้นให้น้อยลง

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ยืนยันว่าผู้สูงอายุ ที่จะได้รับแจกเงินในเฟสที่ 2 จะไม่ซ้ำกับกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับเงิน 10,000 บาทไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เช่น ภาคการเกษตรจะมีการพิจารณาเรื่องเงินช่วยเหลือเกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาท ส่วนรายละเอียดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินนั้น จะขอพิจารณาอีกครั้ง โดยเรื่องนี้คาดว่าจะทำให้ทันเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *