กระทรวงวัฒนธรรม สั่งติดตามเฝ้าระวังพื้นที่โบราณสถานภาคใต้ เร่งสำรวจความเสียหายซ่อมแซมและฟื้นฟูเร่งด่วน

“รมว.สุดาวรรณ” เผยสถานการณ์น้ำท่วมโบราณสถานภาคใต้  พบโบราณสถานพื้นที่ปัตตานี 2 แห่ง สงขลา 5 แห่งและหน่วยงานสังกัดกรมศิลปากร 6 แห่งได้รับผลกระทบ สั่งติดตามเฝ้าระวังใกล้ชิด – เร่งสำรวจความเสียหาย ทำแผนบูรณะ – ซ่อมแซม

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่าตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยงานสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดภาคใต้ และให้กำหนดแนวทางเยียวยาและรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบนั้น นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้รายงานว่า สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลาได้สำรวจโบราณสถานและหน่วยงานในสังกัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ พบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำท่วมขังภายในโบราณสถานเริ่มมีระดับน้ำลดลงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติมอีก และสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา จะเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเตรียมแผนบูรณะโบราณสถานที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงแผนงานซ่อมแซมปรับปรุงอาคารหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีโบราณสถานในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ดังนี้ โบราณสถานในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 2 แห่ง คือ โบราณสถานเมืองโบราณยะรัง ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง พบน้ำท่วมขังที่อาคารโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 1 2 3 และ 8 และโบราณสถานมัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี พบการท่วมขังจากน้ำฝนที่ตกสะสมในบริเวณลานมัสยิด สถานการณ์น้ำ ในพื้นที่มีระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง

“โบราณสถานในพื้นที่จังหวัดสงขลา 5 แห่ง คือ โบราณสถานศาลากวง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร พบว่าในพื้นที่มีระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่โบราณสถานแต่ระดับน้ำต่ำกว่า 10 เชนติเมตร โบราณสถานศาลาบ่อเก๋ง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร พบว่าโบราณสถานไม่มีน้ำท่วมขังมีเพียงขยะมูลฝอยที่ถูกคลื่นชัดเข้าหาที่ราบบริเวณที่เป็นพื้นที่โบราณสถานเท่านั้นโดยขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการทำความสะอาด โบราณสถานป้อมเมืองสงขลาเก่าหมายเลข 1 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร ในบริเวณพื้นที่โดยรอบโบราณสถานไม่มีน้ำท่วมขังแล้วขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ โบราณสถานป้อมเมืองสงขลาเก่าหมายเลข 2 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร ในบริเวณพื้นที่โดยรอบโบราณสถานพบมีน้ำท่วมขัง ระดับน้ำต่ำกว่า15 เซนติเมตร แต่โบราณสถานยังไม่ได้รับผลกระทบ และโบราณสถานป้อมเมืองสงขลาเก่าหมายเลข 3 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร ในบริเวณพื้นที่โดยรอบโบราณสถานมีน้ำท่วมขังเพียงเล็กน้อย ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว” รมว.วธ. กล่าว

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า กรมศิลปากรได้รายงานอีกว่ามีหน่วยงานในสังกัดได้รับผลกระทบ จำนวน 6 แห่ง ดังนี้ 1.หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยะลา มีรอยน้ำรั่วซึมภายในตัวอาคารห้องคลังเอกสารจดหมายเหตุ เอกสารมีคราบเชื้อรา ขณะนี้ได้ประสานสำนักสถาปัตยกรรมเร่งจัดทำแบบรูปรายการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซม 2.หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา มีน้ำรั่วซึมที่ผนังและฝ้าเพดาน เนื่องจากฝนตกหนัก ขณะนี้ประสานสำนักสถาปัตยกรรมลงพื้นที่สำรวจเพื่อจัดทำรูปแบบรายการซ่อมแซมปรับปรุงตัวอาคารแล้ว 3.หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา พบว่าน้ำไม่ท่วมแต่มีรอยรั่วบางจุด ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบรายการซ่อมแซม 4.หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา ไม่มีน้ำท่วมบริเวณสำนักงาน แต่มีน้ำรั่วซึมเล็กน้อยบริเวณท้องโถงด้านหน้า 5.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล มีรอยน้ำรั่วบริเวณชั้น 2 เนื่องจากฝนตกหนัก ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบรายการซ่อมแซม และ 6. พิพิธภัณฑมรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีรอัลกุรอาน ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส พบการท่วมขังของน้ำบริเวณรอบที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมศิลปากรและหน่วยงานที่ดูแล ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้อย่างใกล้ชิด และให้สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา เร่งสำรวจประเมินความเสียหายเพื่อจัดทำแผนบูรณะโบราณสถาน รวมถึงปรับปรุงซ่อมแซมหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อาทิ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รวมถึงจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ทำความสะอาดโบราณสถานต่างๆ ภายหลังน้ำลดต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ได้รับรายงานว่าในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานข้อมูลต่อเนื่องทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย รวมถึงประสานให้กำลังใจเครือข่ายทางวัฒนธรรม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ ได้รับรายงานว่า กรมการศาสนา (ศน.) มีแนวทางในการสงเคราะห์เครื่องสมณบริขารแด่พระภิกษุและสามเณรที่ประสบภัย รวมถึงการช่วยเหลือซ่อมแซมบูรณศาสนสถาน กรณีประสบภัยของศาสนาอิสลาม คริสต์ พราหมณ์ – ฮินดู และซิกข์ ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หรืออยู่ภายใต้องค์การศาสนาที่กรมการศาสนารับรอง กรณีการช่วยเหลือบูรณะซ่อมแซม อาคารสถานที่ที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นในการประกอบศาสนกิจ เช่น ที่อาบน้ำละหมาด ห้องสุขา ระบบไฟฟ้า ระบบประปา เป็นต้น ทั้งนี้ ศน. จะเร่งดำเนินการสำรวจ รวบรวมข้อมูล และนำเข้าสู่คณะกรรมการ ฯ พิจารณาให้การช่วยเหลือโดยเร่งด่วนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *