หลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1 (Young Executive Program) ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับหอการค้าไทย-จีน โดยมีรายการจับจ้องมองจีน และ China Media Group ร่วมสนับสนุน ได้จัดบรรยายให้กับผู้เรียนในหัวข้อ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีน โดยวิทยากร รศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
ในประเด็นเกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ดร.หลี่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนในแต่ละปีที่ผ่านมา และแนวโน้มของเศรษฐกิจจีนในอนาคต โดยเริ่มจากการแนะนำผู้นำของจีนในแต่ละสมัย เริ่มจาก ผู้นำจีนรุ่นที่1 เหมาเจ๋อตุง ผู้นำจีนรุ่นที่ 2 เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 3 เจียง เจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่ 4 หู จิ่นเทา และ ผู้นำรุ่นที่ 5 สี จิ้นผิง โดยให้ข้อมูลต่อไปถึง ที่มาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหลักในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีสมาชิกกว่า 96 ล้านคน ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2464 รวมถึงอธิบายการเป็นสมาชิกของพรรคฯ จะต้องมีเจตนารมณ์ที่จงรักภักดีต่อชาติ อีกทั้งยังต้องมีความประพฤติที่ดี ความซื่อตรง และต้องเข้าศึกษาทฤษฎีของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคฯ และนอกจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว ยังมีพรรคอื่นๆ อีก 8พรรค ที่ทำหน้าที่เป็นแนวร่วมในการให้ข้อเสนอแนะและการตรวจสอบ
ดร.หลี่ ให้ข้อมูลถึง กฎหมายรัฐธรรมนูญของจีนที่มีบัญญัติไว้ว่าประชาชนจีนทุกชนชาติยังคงอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิวส์จีน ภายใต้ทฤษฎีชี้นำของลัทธิมาร์ค-เลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตุง ทฤษฎีเติ้งเสี่ยผิง ความคิดสามตัวแทน และ วิสัยทัศน์การพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
แนวคิด เหมาเจ๋อตง การปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมจีน การนำโดยพรรค เดินแนวทางมวลชน เสริมสร้างแนวร่วม เพื่อดำเนินการปฎิวัติประชาธิปไตย สร้างสรรค์สังคมนิยม
แนวคิด เติ้งเสี่ยวผิง กล่าวว่า ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี
แนวคิด หูจิ่นเทา กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนโฉม แมวที่จะเลี้ยงต้องเป็นแมวสีเขียว การปฏิรูปครั้งที่ 3 จึงเป็นการปฏิรูปคุณภาพ และการปฏิวัติสีเขียว เป็นการปฏิรูปเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งผลจากการปฏิรูปเปิดเสรีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของจีน
และได้พูดถึง การประชุมสองสภาของจีนว่า เหตุผลที่มีการประชุมนี้ เนื่องจากระบบการเมืองจีนจะมีการประชุมแยกกัน ได้แก่ การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ และ การประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน ซึ่งการประชุมทั้งสองจะประชุมกันในเรื่องการบริหารประเทศ จะมีการรายงาน และประเมินผลงานของรัฐบาลในแต่ละปีที่ผ่านมา การแถลงนโยบายปฏิรูป ตลอดจนการกำหนดเป้าหมายในด้านต่างๆ
จากนั้น ดร.หลี่ ได้อธิบายลำดับเหตุการณ์สำคัญของจีน ดังนี้
ปี 1999 เสนอยุทธศาสตร์บุกเบิกภาคตะวันตกของจีน ในพื้นที่ 6.85 ล้านตารางกิโลเมตร 71.4% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศจีน ที่มีประชากร 367 ล้านคน คิดเป็น 25% ของประชากรจีน ซึ่งจากปี 1999 ถึง 2020 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของ GDP ในภูมิภาคตะวันตกอยู่ที่ 10.2% เพิ่มขึ้นจาก 1.6 ล้านล้านหยวน เป็น 21.3 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 21% ของ GDP ของประเทศจีน และในปี 2020 รายได้ต่อหัวในภูมิภาคตะวันตกจะอยู่ที่ 25,000 หยวน
ปี 2000 เสนอยุทธศาสตร์ “เชิญเข้ามา” “ก้าวออกไป”
(1) ลดความซับซ้อนของการอนุมัติการลงทุนในต่างประเทศ
(2) ลดความซับซ้อนของขั้นตอนและผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศในการลงทุนต่างประเทศ
(3) การสนับสนุนการเงินภาษี ได้แก่ 1. เงินช่วยเหลือพิเศษของรัฐบาล 2. สนับสนุนกองทุนรวมลงทุนอุตสาหกรรม 3. การสนับสนุนสินเชื่อ 4. นโยบายภาษี 5. ค่าประกัน
(4) บริการสาธารณะ
(5) ชาวจีนโพ้นทะเลเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมยุทธศาสตร์ “ก้าวออกไป”
ปี 2001 จีนเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการ
ปี 2003 เสนอยุทธศาสตร์ฟื้นฟูฐานการผลิตอุตสาหกรรมเก่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปี 2004 การคุ้มครองทรัพย์สินส่วนบุคคลถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ปี 2005 ยกเลิกภาษีการเกษตร
ปี 2007 พัฒนาประเทศอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
ปี 2012 เสนอ “ความฝันของจีน” โดยผู้นำรุ่นที่ 5 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งได้ประกาศภารกิจหลักของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ คือ การนำพาประชาชาติจีนบรรลุถึง “ความฝันจีน” โดยการผลักดันการฟื้นฟูครั้งใหญ่แห่งประชาชาติจีน ความฝันของจีน คือ ในวาระครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 2020 เด็ก ๆ ชาวจีนจะมีอนาคตที่ดี พวกเขาจะได้พบกับ “สังคมที่พออยู่พอกินอย่างทั่วถึง” ประเทศมีความทันสมัย และระบอบสังคมนิยมที่เข้มแข็ง นี่คือ ความฝัน ของ ผู้นำจีน ในการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติจีน และเมื่อครบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจีนใหม่ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในปี 2049 ประเทศจีนจะเป็นประเทศที่ทันสมัย มีรายได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
ปี 2013 เสนอความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
เส้นทางสายไหมที่เก่าแก่ที่สุด คือเส้นทางสายไหมทางบกซึ่งเป็นเส้นทางการค้าและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับเอเชียกลางและยุโรปในสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 220) มีความยาวทั้งหมด 6,437กิโลเมตร ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง (ปีค.ศ.709-ค.ศ.1279) เกิดเส้นทางสายไหมทางทะเลโดยมีท่าเรือสามท่าเรือซึ่งได้แก่ เมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง เมืองฉวนโจว มณฑลฮกเจี้ยน และเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ในอดีตที่ผ่านมาเส้นทางสายไหมไม่ว่าเส้นทาง ทางบกหรือทางทะเลมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเชื่อมตะวันตกและตะวันออกโดยการโยงพ่อค้าวาณิช ผู้แสวงบุญ นักบวช ทหาร ชนเร่ร่อนและผู้อาศัยในเมืองจากจีนและอินเดียไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างเวลาหลายสมัย
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศข้อริเริ่ม Silk Road Economic Belt อย่างเป็นทางการครั้งแรกในขณะที่เดินทางไปเยือนประเทศคาซักสถาน โดยที่ Silk Road Economic Belt เป็นการเชื่อมโยงประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค เส้นทางสายไหมเดิม (อินเดีย เปอร์เซีย ทวีป ยุโรปและคาบสมุทรอาหรับ) ผ่านเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก เอเชียใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งข้อ ริเริ่มดังกล่าวเป็นการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแลกเปลี่ยน วัฒนธรรม และการขยายการค้าในระดับภูมิภาค ต่อมาประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระหว่างการเยือนอินโดนีเซีย เป็นทางการ เมื่อเดือนตุลาคม 2013 ได้พูดถึง 21st Century Maritime Silk Road หรือเส้นทางสายไหมด้านเศรษฐกิจทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ รวมถึงด้านการลงทุน ระหว่างจีนกับประเทศ ในแถบภูมิภาคมหาสมุทร ได้แก่ อาเซียน โอเชียเนีย
“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีประเทศต่าง ๆ ตอบรับกว่า 60 ประเทศ มีประชากรกว่า 4,400 ล้านคน GDP รวมกว่า 21 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 63 และร้อยละ 29 ตามลำดับ กองทุนเส้นทางสายไหม 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯได้มีการดำเนินการแล้ว AIIB 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 57 ประเทศเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว การค้าระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ตามเส้นทางสายไหมทะลุ 1.12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 1 ใน 4 ของการค้าต่างประเทศจีน
ปี 2014 เริ่มศึกษาวิจัยออกแบบ ดิจิทัลเงินหยวน และทดลองการใช้ดิจิทัลเงินหยวนในเซินเจิ้น ซูโจว สวงอัน ในวันที่ 31 ธันวาคม 2021 นำร่องหยวนดิจิทัลหยวนในสถานการณ์ต่างๆ ได้มากกว่า 8.0851 ล้านราย มีการเปิดกระเป๋าตังค์ส่วนตัวทั้งหมด 261 ล้านกระเป๋า และมูลค่าธุรกรรมถึง 87.565 พันล้านหยวน
ปี 2015 เสนอยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” มี 10อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่
1.อุตสาหกรรมไอที 2.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 3.อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อากาศยาน 4.อุตสาหกรรมการต่อเรื่อไฮเทค 5.อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ 6.อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ 7.อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์พลังงาน 8.อุปกรณ์การผลิตวัตถุติบใหม่ 9.อุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การผลิตยา 10.อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการเกษตร
ปี 2020 นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ไปปฏิบัติและนำเสนอ “วงจรคู่”
การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 5 แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 19 จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2020 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางได้กล่าวรายงานสำคัญในที่ประชุมและที่ประชุมได้อภิปรายและผ่านข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกลางต่อการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีฉบับที่ 14 และเป้าหมายการพัฒนา 2035 ของจีน ประเทศจีนเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี (ปี 1953-1957) ฉบับแรกในปี 1953 ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 มีเป้าหมายใหม่ เพื่อรังสรรค์ประเทศที่ทันสมัยในระบอบสังคมนิยมอย่างรอบด้าน
หลังจากการบรรยาย ทางหลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1 (Young Executive Program) ให้แนวทางการสร้างไอเดีย จัดทำโครงการกลุ่ม และจัดงานเสวนาของกลุ่มจากโจทย์ที่ได้รับ โดยคุณทีปกร โกมลพันธ์พร ที่ปรึกษาหลักสูตรฯ เป็นผู้บรรยายถึงการจัดทำโครงการหลักสูตร และงานเสวนาของกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะต้องจัดทำขึ้น จากนั้นให้แต่ละกลุ่มระดมสมองเพื่อเขียนโครงการที่จะนำเสนอ วัตถุประสงค์ของโครงการ พร้อมวิธีนำเสนองานโครงการ และเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา ครั้งที่ 1 เพื่อขอความเห็นและการอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษา ก่อนจัดทำโครงการ