พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มแพทย์ชื่อกลุ่มเพื่อแพทย์ลงสมัครกรรมการแพทยสภา เพื่อแก้ไขกฎที่บีบคั้นแพทย์ซึ่งออกโดยกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน ได้รับเรื่องร้องทุกข์ของแพทย์จากการกระทำของกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยมีแพทยสภาและกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน รวม 5 ราย เป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องได้กระทำการออกกฎเกณฑ์และแถลงข่าวในประเด็นเกี่ยวกับการใช้สเต็มเซลล์เกินอำนาจที่กฎหมายกำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของแพทย์และวงการแพทย์ในประเทศไทยรวมและทำให้ผู้ป่วยที่รักษาด้วยสเต็มเซลล์เดือดร้อน
พญ.อรพรรณ์ ระบุว่า แพทยสภา คณะกรรมการแพทยสภา และกรรมการบางส่วนได้ออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สเต็มเซลล์ โดยไม่ได้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 รวมถึงกรรมการที่เข้าไปโดยการเลือกตั้งของแพทย์บางคน ได้แถลงข่าวหรือกล่าวในลักษณะที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า แพทย์ของไทยที่ให้การรักษาด้วยสเต็มเซลล์เป็นการหลอกลวง ส่งผลต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นต่อแพทย์ และทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์หรือยาชีววัตถุต้องเดือดร้อนเนื่องจากแพทยสภาได้กล่าวในลักษณะว่าการรักษาผู้ป่วยด้วยสเต็มเซลล์กรณีโรคอื่นนอกจากโรคทางเลือดและดวงตาที่แพทยสภาอ้างว่ารับรองแล้ว ถือเป็นความผิด ทำให้แพทย์ไม่กล้าที่จะรักษาผู้ป่วยที่ใช้สเต็มเซลล์ต่อไปได้
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นคือ การแถลงข่าวเมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2567 ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สเต็มเซลล์ในลักษณะที่อ้างว่า “ประเทศไทยติดอันดับหลอกลวงผู้ป่วยด้วยการใช้ สเต็มเซลล์เถื่อน” และระบุว่า การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในโรคที่ไม่ได้รับรองการจากแพทยสภาอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อแพทย์ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพในการรักษาผู้ป่วย
พญ.อรพรรณ์ ชี้ว่า การแถลงข่าวและการออกกฎดังกล่าว ทำให้ภาพลักษณ์ของแพทย์ที่ใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาผู้ป่วยถูกมองในแง่ลบ และเป็นการออกกฎในลักษณะขัดขวางการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการรักษาผู้ป่วยด้วยสเต็มเซลล์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จากการรักษา เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับและมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์มายาวนานกว่า 15 ปี ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในอนาคตอันเกี่ยวข้องถึงชีวิตและสุขภาพได้
พญ.อรพรรณ์ ขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนกฎเกณฑ์และประกาศที่ออกโดยแพทยสภาจำนวน 3 ฉบับ รวมถึงสั่งให้กรรมการแพทยสภาได้แก้ไขการแถลงข่าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแพทย์และวงการแพทย์ และต่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาชีววัตถุสเต็มเซลล์ พร้อมทั้งยืนยันว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเกินขอบเขตอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้กฎและประกาศดังกล่าวไม่ใช้บังคับกับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์อันจะทำให้การรักษาดังกล่าวดำเนินการต่อไป และให้เยียวยาโดยสั่งให้กรรมการผู้กระทำการกล่าวต้องขอเพิกถอนข้อความเรื่องการใช้สเต็มเซลล์ของแพทย์ไทยนั้นเป็นการลวงโลก
คดีนี้นับเป็นประเด็นสำคัญที่สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและการใช้อำนาจในองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อการรักษาและมาตรฐานทางการแพทย์ในประเทศไทย และกระทบถึงสุขภาพและชีวิตของผู้ป่วยและประชาชนไทยอีกด้วย
โดย พญ.อรพรรณ์ แถลงเพิ่มเติมว่า ด้วยกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบันได้ออกกฎที่ทำให้แพทย์เดือดร้อนโดยทำเกินจากที่กฎหมายให้อำนาจหลายเรื่องรวมเรื่องสเต็มเซลล์นี้ ซึ่ง พญ.อรพรรณ์ และคณะแพทย์ในกลุ่ม 34 คน ของทีมเพื่อแพทย์ (34-53 และ 175-188) ตั้งใจเข้าไปทำมติแก้ไขกฎเกณฑ์เหล่านั้น จึงขอให้แพทย์ทั้งประเทศได้ใช้สิทธิลงคะแนน เพื่อเปลี่ยนกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบันออก และส่งทีม 34 คนในกลุ่มเพื่อแพทย์ เข้าไปทำมติเพิกถอนเกณฑ์ที่ไม่ชอบเหล่านั้น ในเวลานี้ ถึง 14 มกราคม 2568 ด้วย สำหรับคดีที่ฟ้องนี้ต้องใช้เวลาอีกนาน เกรงจะเกิดความเสียหายต่อการประกอบวิชาชีพแพทย์ และผู้ป่วย อันยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง