หลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1 จัดบรรยายเรื่อง E-Commerce วิกฤตคือโอกาส โดย อ.ตฤณ วุ่นกลิ่นหอม
หลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1 (Young Executive Program) ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับหอการค้าไทย-จีน โดยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และมีทาง China Media Group กับ รายการจับจ้องมองจีน ร่วมสนับสนุน ได้จัดการบรรยายอบรมผู้เรียนในหัวข้อ E-Commerce วิกฤตคือโอกาส โดย คุณตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทยและกรรมการการค้าข้ามแดนจีน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
ในประเด็นเกี่ยวกับ E-Commerce วิกฤตคือโอกาส คุณตฤณให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสร้างพื้นที่เพื่อการพัฒนาเป็น China’s e-Park เริ่มจากการพัฒนาคน ในท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่จัดโดยองค์กรบริหารสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในท้องถิ่น กรมพัฒนาแรงงาน เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากความสร้างสรรค์ เทคโนโลยีใหม่ๆ และอีกด้านคือ การจัดสร้างพื้นที่เพื่อการพัฒนาวัตถุดิบในท้องถิ่น ด้วยการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เกี่ยวกับด้านการค้า กรมสรรพากร และกลุ่มสมาคม SME ในท้องถิ่น เช่น สมาคมการค้า, สมาคมอุตสาหกรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กลุ่มธุรกิจโรงงานเช่า, กระทรวงพาณิชย์, ธนาคาร, บริษัทนำเข้า-ส่งออก, กรมส่งเสริมการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ
โดยคุณตฤณได้ยกตัวอย่าง โครงสร้างของ e-Park เป็นพื้นที่สำหรับสร้างคนและวัตถุดิบ ซึ่งทำงานร่วมกันระหว่าง หน่วยงานกลาง ร่วมกับ หน่วยงานท้องถิ่น ตั้งอยู่ทุกมณฑล คอยประสานกับภาคธุรกิจอื่นๆ จีนจะสร้างคนและเทคโนโลยีพร้อมกัน
State Council Leading Group Office of Poverty Alleviation and Development หรือ CPAD เป็นหน่วยงานกลั่นกรองงบประมาณ ที่เป็นไปตามนโยบาย “การแก้ปัญหาความยากจน” กว่าร้อยละ 60% ของงบประมาณกลาง ที่ใช้ในการพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง หรือ ก่อสร้างของหลายๆกระทรวง จะถูกกลั่นกรอง ก่อนเสมอ มีอำนาจในการใช้สิทธิ์ หรือ มอบสิทธิ์ ในประโยชน์ของที่ดิน หรือ โฉนดส่วนกลาง ให้กับ หน่วยงาน เพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่ทำกิน ออกนโยบายเสริม เพื่อสร้างหลักสูตรร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ ในตัวอย่างข้างต้น ก็ให้ทาง Shanxi Datong University พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และพลังงานประยุกต์ตามมา
สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Council for the Promotion of International Trade: CCPIT) ซึ่งมีทั้งภารกิจเน้นส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน และ มีบทบาทในการสนับสนุน MSME (ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม) โดยเป็นหน่วยงานส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ MSME ให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง อาทิ การสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น ให้สิทธิ์ในโฉนด ตามระยะแผนโครงการ, ให้สิทธิ์ในเรื่องของ ภาษี ทั้ง นิติบุคคล และ บุคคลธรรมดา ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ e-Park โดยอิงจากนโยบายท้องถิ่น นโยบายรัฐบาลกลาง นโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ โดยแต่ละพื้นที่ก็จะมีการให้สิทธิ์ของภาษีต่างกันออกไป อาทิ ภาษีส่งออก ภาษีค่าสินค้า ฯลฯ สนับสนุนเรื่องงานรางวัล Incentive ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำยอดการขายได้ดี, ส่งเสริมงบประมาณสำหรับการนำสินค้า บริการ หรือ ธุรกิจ ของจีน ที่ไปดำเนินการในสาขาต่างประเทศ, ส่งเสริมเรื่องออกสาร วีซ่า สำหรับแรงงานต่างด้าว ให้สามารถพำนัก และถือครองทรัพย์สินได้, ร่วมลงทุน และพัฒนาระบบ Platform กลาง สำหรับ MSME กับหน่วยงานต่างๆ
คุณตฤณ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้จีนเติบโตด้วย e-Industrial Park นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ที่จีนนำระบบ Industrial Park มาใช้ครั้งแรกในการผลิตแบบอุตสาหกรรม 360 องศา จากนั้น ปี ค.ศ. 1999 จีนเริ่มนำเทคโนโลยี และ Platform Online มาช่วยส่งเสริมการทำตลาดไปต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด e-Industrial Park โดยใช้ e-Commerce Platform โดยมี Alibaba.com เป็นแกนนำในยุคนั้น โดยการรวมกลุ่ม ผลิตสินค้า ทำให้กลุ่มผู้ผลิตมีอำนาจในการต่อรองราคาวัตถุดิบ, ค่าบรรจุภัณฑ์, ค่าแรงงาน และค่าขนส่งได้อย่างมาก การพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองต่อตลาดโลก ทำให้ e-Industrial Park ต้องพัฒนาบุคลากร ร่วมกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่นอย่างมาก ทำให้มีหลักสูตรที่ตลาดต้องการ และลดอัตราการว่างงานกว่า 80% ในช่วง ค.ศ. 2009 – 2017
และได้กล่าวถึง 5 อันดับของมณฑลจีนที่มี e-Commerce Park มากที่สุด ได้แก่
มณฑลเจ้อเจียง (เมืองหางโจว) จำนวน 182 ปาร์ค, มณฑลกวางตุ้ง (กวางโจว) จำนวน 136 ปาร์ค, มณฑลเจียงซู (หนานหนิง) จำนวน 113 ปาร์ค, มณฑลซานตง (เมืองจี่หนาน) จำนวน 76 ปาร์ค และมณฑลเสฉวน (เมืองเฉิงตู) จำนวน 64 ปาร์ค ตามลำดับ
โดยมณฑลลำดับที่1 คือ มณฑลเจ้อเจียง เมืองหางโจว มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการผ่านอีคอมเมิร์ซ จำนวน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หางโจวนําเข้าสินค้าจากไทยรวมกว่า 308.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวกว่า 10,700 ล้านบาท มีสินค้านำเข้าที่สําคัญ ได้แก่ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เซื้อเพลิง พลาสติก เครื่องจักรไฟฟ้า และหางโจวได้ส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยรวมกว่า 800.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวกว่า 28,000 ล้านบาท มีสินค้าส่งออกที่สําคัญ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มจากการถัก เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล พลาสติก และสิ่งทอ เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณตฤณ ยังได้กล่าวถึง การพัฒนาของจีนที่เป็นไปอย่างรวดเร็วจากการให้ทุนของรัฐบาลจีน, รัฐบาลให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเมืองนำร่องที่เป็นต้นแบบ, การกำหนดพื้นที่เขตการค้าเสรีของจีน, การนำ Predictive Data มาใช้ใน e-Industrial Park อีกด้วย
หลังจากการบรรยาย ผู้เข้าอบรมกลุ่มหงส์ แบ่งปันความรู้ภายใต้หัวข้อ Cross-Border E-Commerce แต่ละประเภท ได้แก่ รูปแบบการค้าแบบ B2B, รูปแบบการค้าแบบ B2C, รูปแบบการค้าแบบ C2C และได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงสร้างการนำเข้าส่งออกของการซื้อขาย, สถิติการเติบโตของมูลค่าตลาด E-Commerce ของจีนในอดีต และแนวโน้มการเติบโตในอนาคต รวมถึงข้อดีข้อเสียระหว่างการซื้อขายแบบดั้งเดิมกับ Cross-Border E-Commerce